ประวัติท้องฟ้าจำลองสิรินธร
นพสิต ฉั่วเจริญ ผู้เขียน
เบื้องต้นจะต้องอธิบายให้ทราบเหตุที่เกิด "ท้องฟ้าจำลองสิรินธร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" ก่อนคือ การถือกำเนิดของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อครั้งในสมัยพระบรมหาราชวัง ในขณะนั้นยังเป็น “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” และมีการแบ่งสายการเรียนในปี 2428 เป็นฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษ ต่อมา เมื่อมีนักเรียนเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ในการเรียนไม่เพียงพอ จึงมีการโยกย้ายไปตั้งแต่ปี 2442 และย้ายไปย้ายมา จนกระทั่งมารวมกัน บริเวณวัดราชบุรณราชวรวิหาร นั่นคือ “ตึกยาว (อาคารสวนกุหลาบ) ”
ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบชิ้นแรก ๆ ที่อาจกล่าวได้ว่า “สร้างชื่อเสียง” ให้กับโรงเรียน ก็คงเป็น "นักเรียนทุนคิงส์“ คนแรก ของประเทศสยาม (ไทย) นั่นคือ ”นายพุ่ม สาคร“ หรือ “Nikolai Pumsky” นักเรียนจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ (ขณะนั้น ปี 2439 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ ยังไม่ได้โยกย้ายออกจากวัง) ผู้ร่วมออกเดินทางเล่าเรียน ณ ประเทศรัสเซีย เป็นคู่พระสหายของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาด กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือหากจะอิงจากกระดาน “จาริกานุสรณ์” หรือ Honour Boards กระดานที่จารึกชื่อของนักเรียนสวนกุหลาบฯ ที่สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิงส์) หรือทุนกระทรวงทบวงต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ที่ริเริ่มจากอาจารย์ใหญ่ (ผู้อำนวยการ) Norman Sutton (N. Sutton) {ดำรงตำแหน่งปี 2458 - 2473} นับว่ามีหลากหลายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว (เพราะปัจจุบันยังมีจารึกอยู่ในห้องกุหลาบเพชร ส่วนกระดานปัจจุบันถูกจัดแสดงไว้ใน พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)
จากภาพ คือท่านที่ยืนอยู่ ส่วนอีกท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ภาพจาก: มติชน
ภาพจาก: พิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ภาพจาก: ตำนานสวนกุหลาบ สวนกุหลาบวิทยาลัยใน 12 ทศวรรษ
คราวนี้จะเล่าถึงเรื่องที่การถือกำเนิด ท้องฟ้าจำลองสิรินธร คือแต่เดิม เมื่อปี 2468 กระทรวงศึกษาธิการได้ทำอนุสาวรีย์อุทิศแก่ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ให้แก่สามัคยาจารย์สมาคม ศิษย์เก่าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ผู้มีนามเป็นลำดับ 2 ในจารึกศิลา ผู้จัดการวางแผนการศึกษาของประเทศในยุคนั้น ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสร้างศาลาให้ชื่อว่า "ศาลาพระเสด็จ" ศาลาพระเสด็จหลังนี้ใช้เป็นที่ประชุมสนทนา เล่นกีฬาในร่มต่างๆ ที่พักของอาจารย์ ที่พักผ่อนเพื่อความสำราญของสมาชิกสามัคยาจารย์สมาคม (ศธ. 62/29)
ในยุคหลัง ๆ อาคารศาลาพระเสด็จจะเป็นที่ฝึกซ้อมและเก็บเครื่องดนตรีของแตรวงฯ หรือจะเป็นที่เก็บตัวของนักฟุตบอล
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2510 รุ่น 82
กาลเวลาต่อมา เมื่ออาคารเริ่มทรุดโทรม ผอ. วินัย เกษมเศรษฐ (สมัยนั้นตำแหน่งคือ อาจารย์ใหญ่) จึงได้รื้อและก่อสร้างอาคารใหม่ช่วงปี 2510 และแล้วเสร็จในปี 2511 ในชื่อว่า “อาคารพระเสด็จ” และมีรายละเอียดด้านล่างชื่ออาคารว่า “สร้าง ณ ที่สถาานที่เดิมซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาพระเสด็จ” หรือ “อาคาร ๓” เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอประชุม ชั้นบนที่เหลือเป็นทั้งห้องเรียนและห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิชาละ 1 ห้อง ดั่งบทความของ ครูรัตนากร กล่ำสมบัติ (OSK 88/17050) เล่าในหนังสือสมานมิตร รุ่น 103 ว่า
“...คือในปีที่ผมเรียนอยู่ ม.ศ. 5 ปีสุดท้ายของชีวิตนักเรียนนั้น อาจารย์คณิตศาสตร์ของเราคนหนึ่ง คือ อาจารย์สมชัย มาลาศรี ได้ถึงแก่กรรมเพราะถูกคนร้ายชิงทรัพย์ (ตามการสอบสวนของตำรวจ) ขณะที่เราขาดอาจารย์คณิตศาสตร์ที่มีฝีมือดีที่สุดคนหนึ่ง อาจารย์สุวรรณ จันทร์สม{(OSK 71/11385)} ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่{ผอ.}ถึงกับลงมาสอนแทนเองในบางห้องและยังสอนพิเศษวิชาแม่เหล็กไฟฟ้าให้พวกเราที่หอประชุมอาคารพระเสด็จ เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย...”
ภาพจาก: ศุภวิชญ์ (ศักดิ์ชาย) ครุฑราลัย (OSK103/25699)
แม้ว่าถึงอาคารนี้ จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน (2511 - 2531) แต่ก็มีบางกิจกรรม ที่ได้ใช้จัด ณ ที่แห่งนี้ เช่น
กิจกรรม “สู่แดนสวนฯ ‘19” เป็นกิจกรรมต้อนรับนักเรียนชั้น ม.ศ. 1 (รุ่น 99) ในวันที่ 25 มิถุนายน 2519 โดยมีการลอดซุ้มกุหลาบ ผูกข้อมือและบายศรี{ดูคล้ายละอ่อนเลย แต่ไม่น่าใช่}
การแสดงของลูกเสือชาวบ้าน วันที่ 23 กรกฎาคม 2519
7 กันยายน 2519 ชุมนุมสังคมศึกษา ได้เชิญคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น มาบรรยายเรื่อง “รัฐสภากับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”
23 ธันวาคม 2519 หม่อมราชวงศ์อภินพ เนาวรัตน์ ได้กรุณาให้เกียรติมาบรรยายเรื่อง “ศิลปะการพูด”
ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2522 มีประเด็นบางอย่างที่ใช้อาคารพระเสด็จเป็นสถานที่แถลงการณ์ในสมัยของ ผอ. ประยูร ธีระพงษ์
9 พฤศจิกายน 2523 ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จัดงานลอยกระทงขึ้นภายในโรงเรียน มีรายการแสดงที่หอประชุมอาคารพระเสด็จ
ต่อมา ปี 2523 สมัย ผอ.สำเริง นิลประดิษฐ์ (OSK 70/11151) ได้มีความคิดว่าจะรื้ออาคารศาลาพระเสด็จ และก่อสร้างใหม่อีกครั้ง เพราะด้านที่ติดกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาฯ (วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร) มีสภาพที่เอียง (เอียงทางข้างหลัง) ประมาณ 17 องศา (ถึงขนาดที่ ผอ. สุทธิ ท่านเคยตั้งฉายาในหนังสือสมานมิตรรุ่น 113 ว่า “หอเอนปิซาแห่งสวนกุหลาบ”{หอเอนเมืองปิซา (อิตาลี) เอียงแค่ 3.97 องศา}) ถึงแม้จะมีการปรับซ่อมเป็นระยะ ๆ แต่สภาพทั่วไปก็ไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะฝ้าของหอประชุมชั้นล่างจะเป็นแอ่ง พอฝนตกลงมาน้ำฝนจะมาขังในบริเวณแอ่งนี้ทำให้สายไฟฟ้าที่อยู่ภายในฝ้าเสียหายมาก ท่านเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับนักเรียน โรงเรียนจึงนำหนังสือที่กองออกแบบอาคารและก่อสร้าง ส่งให้เจ้าหน้าที่มาสำรวจสภาพข้อเท็จจริง ผลการสำรวจเห็นสมควรให้รื้ออาคารและก่อสร้างใหม่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ประกอบกับโรงเรียนจะมีอายุครบ 100 ปี จึงได้มีการสร้าง "ตึกปิยมหาราชานุสรณ์" ก่อน ซึ่งการก่อสร้างตึกนี้อยู่ในระดับสูงกว่าอาคารพระเสด็จประมาณ 90 เซนติเมตร ทำให้เวลาฝนตกน้ำท่วมรอบบริเวณอาคาร ผอ.สำเริง นิลประดิษฐ์ จึงได้ดำเนินการหาทุนขั้นต้นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมสร้างอาคารพระเสด็จ (หลังที่ 3) เช่น วันที่ 22 มีนาคม ปี 2524 มีการประกวดพระเครื่องเพื่อนำเงินรายได้มาปรับปรุงอาคารพระเสด็จ เป็นต้น
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2530 รุ่น 106
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2530 รุ่น 106
ในปี 2530 ผอ.สุทธิ เพ็งปาน (OSK 67/10164) ผู้อำนวยการคนต่อมา ได้ดำเนินการต่อ โดยให้กองออกแบบและก่อสร้าง กรมสามัญศึกษา เขียนแบบตึกพระเสด็จใหม่เป็นตึก 4 ชั้นแบบพิเศษ สูงไม่เกิน 16 เมตร เพื่อให้มีจำนวนห้องเรียนเพียงพอ ลักษณะของอาคารเป็นรูปตัว “L” โดยมีอาคารหลังหนึ่งอ้อมไปบริเวณที่ว่างซึ่งอยู่หลังตึกปิยมหาราชานุสรณ์ ด้านบนเป็นที่ว่างใช้เรียนวิชาเกษตร ด้านล่าง (หลังตึก)เป็นโรงอาหารต่อเนื่องจากโรงอาหารของตึก 100 ปี (ตึกปิยมหาราชนุสรณ์) ส่วนหลังใหญ่เป็นตึก 4 ชั้น สร้างแทนอาคารพระเสด็จหลังเดิม โดยใช้ชื่อว่า “อาคารศาลาพระเสด็จ”
สาเหตุที่ทำให้ตึกเอียง จากบทสัมภาษณ์ของผอ. สุทธิ ในหนังสือสมานมิตรรุ่น 113 ท่านเล่าว่า:
“ที่ทรุดเพราะว่าเนื่องจากเสาเข็มที่ตอกเนี่ยเป็นเสาไม้{อาคารพระเสด็จ} ยาวแค่ 6 เมตร รู้ตอนที่ว่าตอนก่อสร้างอาคารพระเสด็จหลังใหม่ก็เมื่อตอกเสาเข็มใหม่ลงไป ไปถูกเข็มเดิมซึ่งจำเป็นต้องถอนเข็มไม้ขึ้นมาทุกหลุมที่เจอ ถึงได้รู้ได้เห็นประจักษ์ขึ้นมา ครูถึงได้โล่งอกที่ครูทุบอาคารพระเสด็จหลังเดิมทิ้งไป ซึ่งบางคนก็บอกว่าอาคารหลังเดิมมันยังดีอยู่เลยไปทุบมันทำไม”
มีเรื่องเล่าชวนขบขันถึงสาเหตุของตึกเอียง จากคำสัมภาษณ์ของ ผอ.สุทธิ เพ็งปาน ในหนังสือสมานมิตรปี 2506 เล่าว่า
“...ตึกเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นตึกชั้นเดียวเป็นห้องเลคเชอร์อยู่ใกล้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาฯ (บริเวณตึกพระเสด็จใหม่ที่ทรุดต้องรื้อทิ้งในปัจจุบัน) ขณะนั้นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาฯ มีแค่ ม.3 มีความหลังเก่า ๆ ที่พวกนักเรียนสวนกุหลาบแอบไปดูสาว ๆ กัน มีการกระเช้าเย้าแหย่กันบ้าง (เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีการสร้างตึกพระเสด็จใหม่เป็นตึก 4 ชั้น นักเรียนสวนกุหลาบระยะนั้นก็มีการพับกระดาศทำเป็นจรวดยิงไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาฯ นัดพบกันบ้าง จนมีการแซวว่าที่ตึกพระเสด็จเอียงไปก็เพราะนักเรียนสวนกุหลาบชอบไปนั่งแถบหน้าต่างเพื่อส่งสายตาไปเสาวภานั่นเองจนทุกวันนี้ต้องรื้อตึกทิ้ง)...”
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2538 รุ่น 114
อาคารหลังใหม่ใช้เงินงบประมานจากกรมสามัญศึกษา จำนวน 3.5 ล้านบาท, เงินบำรุงการศึกษา และเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน 6.5 ล้านบาท และท่านนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในขณะนั้น พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (OSK 65/9809) เป็นผู้ให้การสนับสนุนจากเงินงบประมาณพิเศษ 13 ล้านบาท รวมเป็น 23 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้น 50 ล้านบาทก็ยังสร้างไม่ได้ เพราะวัสดุก่อสร้างขึ้นราคา (สมานมิตร 113) ผอ.สุทธิ ทุ่มเงินอีก 1 ล้านบาท เพื่อซื้อความปลอดภัยในชั้นดาดฟ้า ทำหลังคาและรั้วเพิ่ม
เลขที่อาคารศาลาพระเสด็จคือ กท.110170/2531 แสดงว่าอาคารนี้ เริ่มมีการทุบอาคารเดิมและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตึกในปีนั้น คือ 22 สิงหาคม 2531 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดพรเทพ และเมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้นของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารศาลาพระเสด็จ ซึ่งเป็นอาคารเรียนแบบพิเศษ 4 ชั้น ใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนสามัญ ชั้นล่างเป็นห้องสมุดตลอดแนว (มีชื่อว่า “หอสมุด พลเอกสุนทร คงสมพงษ์” ตามชื่อของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้มีอุปการะคุณต่อโรงเรียนเป็นอย่างสูง) โดยห้องสมุดย้ายมาจากอาคารสวนกุหลาบ (ตึกยาว) เดิมมีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2533 ทว่า อิงจากหนังสือสมานมิตรปี 2538 รุ่น 114 ก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2534 สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเป็นระยะ ๆ เพราะว่าปี 2533 ห้องสมุดได้ย้ายประจำการ ณ อาคารศาลาพระเสด็จแล้ว
ต่อมาโรงเรียนได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้นของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึกศาลาพระเสด็จในวันที่ 30 กรกฎาคม 2535
ในช่วง 30 กว่าปีที่แล้ว กิจกรรมกีฬาที่เป็นหลักของนักเรียนสวนกุหลาบคือ ฟุตบอลโกลหนู (ฟุตบอลรูหนู, ฟุตบอลโกลรูหนู) เป็นกิจกรรมฟุตบอลที่ใช้โกลขนาดเล็กคล้ายรูหนู แทบทุกซอกมุมที่ พอจะมีที่ว่าง ก็ไปเล่นกัน ผอ. สุทธิ เพ็งปาน ท่านเลยคิดหาสถานที่เพื่อให้สามารถเล่นกันได้ตามสบาย จึงเกิดโครงการสนามกีฬาลอยฟ้าเหนืออาคารศาลาพระเสด็จ เนื้อที่ประมาณ 80 ตารางเมตร (12 ห้องเรียน){แปลว่าจะมีแปลงเกษตรอีก 2 ห้องเรียนอยู่ข้าง ๆ} โครงสร้างของสนามกีฬาเป็นโครงเหล็กโดยรอบ มั่นคงแข็งแรง มีหลังคากันแดดกรองแสง 60 เปอร์เซนต์ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท จากการบริจาคของคุณ ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ ผู้ปกครองของ ณัฐฐพันธ์ ทัศนนิพันธ์ (OSK 113) โรงเรียนจึงตั้งชื่อสนามว่า "สนามทัศนนิพันธ์" สนามนี้ นอกจากนักเรียนจะได้มาเล่นฟุตบอลรูหนูกันแล้ว ยังใช้เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งด้านการเรียนการสอนวิชาพลานามัย วิชากิจกรรมลูกเสือ และอื่น ๆ เป็นสถานที่จัดเลี้ยงของโรงเรียนได้อย่างดีมีทิวทัศน์สวยงาม ท่านปลัดกระทรวงฯ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดสนาม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535
ภาพจาก: โชติช่วง ภริตานนท์ (OSK 122/22142)
เกร็ดเล็กน้อย ก่อนเข้าสู่เนื้อหาถัดไป: มีข้อครรหาจากกลุ่มศิษย์เก่าจำนวนหนึ่งว่า ควรจะเป็นคำว่า “พระเสด็จฯ” หรือ “พระเสด็จ” จึงทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กับทางโรงเรียนอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง หากอิงจากลายพระนามของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ที่ปรากฎในหนังสือ “รำลึกถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ในวาระ 150 ปี ชาตกาล พุทธศักราช 2560” จะเห็นได้ว่า ไม่มี “ฯ” พอดูภาพอาคารพระเสด็จยุคแรก ก็ไม่มี “ฯ” ฉะนั้น หากจะอิงให้ถูกต้องตามแบบยุคแรก ก็คงจะเป็นชื่อ “พระเสด็จ” นี่แหละ แต่ถ้ามาดูหน้าอาคารช่วงปี 2559 ตอนที่กำลังปรับปรุงเรื่องท้องฟ้าจำลอง จะใช้ชื่อหน้าอาคารว่า “ศาลาพระเสด็จฯ”
ภาพอาคารศาลาพระเสด็จ เมื่อปี พ.ศ. 2562
ภาพจาก: รำลึกถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ในวาระ 150 ปี ชาตกาล พุทธศักราช 2560
หนึ่งในส่วนช่วยในการถือกำเนิดท้องฟ้าจำลองสิรินธร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็คงจะเป็น โอลิมปิกวิชาการ (International Science Olympiads[ISO]) โดยโอลิมปิกวิชาการ เกิดจากกลุ่มนักวิชาการที่มีความเชื่อว่า “แต่ละประเทศมีเด็กที่เก่ง ที่เป็นส่วนช่วยพัฒนาประเทศ ถ้าเอาเด็กเหล่านั้นมาแข่งขันกัน มาโชว์ Education ของแต่ละประเทศในเวทีโลก เพื่อเอากลับมาพัฒนาหลักสูตรกัน และยังได้ Educate เด็ก ๆ สู่การเรียนรู้ในห้องเรียน ประเทศชาติจะได้เจริญขึ้นในระยะยาว”
สำหรับรายวิชาที่ใช้แข่งขันโอลิมปิก จะมีตามนี้ พร้อมทั้งปีที่ริเริ่ม
คณิตศาสตร์โอลิมปิก (International Mathematical Olympiad[IMO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959)
ฟิสิกส์โอลิมปิก (International Physics Olympiad[IPhO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967)
เคมีโอลิมปิก (International Chemistry Olympiad[IChO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968)
คอมพิวเตอร์โอลิมปิก (International Olympiad in Informatics[IOI]) ริเริ่ม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)
ชีววิทยาโอลิมปิก (International Biological Oympiad[IBO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990)
ปรัชญาโอลิมปิก (International Philosophy Olympiad[IPO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993)
ดาราศาสตร์โอลิมปิก (International Astronomy Olympiad[IAO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)
ภูมิศาสตร์โอลิมปิก (International Geography Olympiad[IGeo]) ริเริ่ม พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)
ภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Linguistics Olympiad[IOL]) ริเริ่ม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad[IJSO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004)
ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (International Olympiad on Astronomy and Astrophysics[IOAA]) ริเริ่ม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)
โลกและอวกาศโอลิมปิก (International Earth Science Olympiad[IESO]) ริเริ่ม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)
ในการแข่งขัน IMO ครั้งที่ 30 ปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ณ เมืองเบราน์ชไวค์ (Braunschweig) ประเทศเยอรมนี (Germany) นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีบทบาทในเวทีโอลิมปิกวิชาการ โดยในปีนั้น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จึงได้รับเชิญให้ส่งนักเรียนไปแข่งขัน จำนวน 12 คน ผลจากการแข่งขันไทยได้ 1 เหรียญทองแดง และ 2 เกียรติคุณประกาศ ในครั้งนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท และได้ชักชวนพระสหาย 2 ท่านร่วมสนับสนุนอีก 40,000 บาทให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดส่งนักเรียนไปแข่งขัน
หลังจากจบการแข่งขันแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้รองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุลและคณะกรรมการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเข้าเฝ้าถวายรายงาน ได้ทรงประทานคำแนะนำให้ขยายการดำเนินการไปยังสาขาอื่นๆและให้ขยายการคัดเลือกไปทั่วประเทศ ทั้งทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์และให้การสนับสนุน จึงเกิด “โครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแช่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ” ในปีต่อมา ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันเพิ่ม คือ IPhO (ครั้งที่ 21 เมืองโกรนิงเกน (Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands))[ไทยไม่ได้เหรียญ] และ IChO (ครั้งที่ 22 เมืองปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France))[ไทยได้ 1 เหรียญทองแดง] และในอีกปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันเพิ่มอก คือ IOI (ครั้งที่ 3 เมืองเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ (Greece))[ไทยได้ 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง] และ IBO (ครั้งที่ 2 เมืองมาค์ฮัชคาลา (Makhachkala) ประเทศสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Soviet Union))[ไทยได้ 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง]
ภาพจาก: www.posn.or.th
ทุกปีที่มีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อส่งไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จะทรงประทานเงิน 2 แสนบาทจากทุนการกุศลสมเด็จย่าสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการเป็นประจำทุกปี บางปีมีเพิ่มเติม และในปี พ.ศ. 2541 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานเงินส่วนพระองค์ให้กับศาตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ (นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯในขณะนั้น) เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)” และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ด้วย มูลนิธิ สอวน. มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งประเทศให้ได้มาตรฐานสากล และประเทศไทยจะได้นักเรียนที่มีความรู้ระดับมาตรฐานสากลมาเข้าร่วมแข่งขันคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันทางวิชาการกับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบยั่งยืน
ภายหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของภายหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทรงรับเป็นประธานมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2551 ทรงสนับสนุน และทรงติดตามผลการดำเนินงาน ของมูลนิธิ สอวน.
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงทราบว่า ประเทศไทยไม่ได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เพราะขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาเลย จึงมีพระดำริให้มูลนิธิฯ ไปหาทางดำเนินการพัฒนาเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านดาราศาสตร์เหมือนประเทศอื่น ๆ และได้ทรงรับสั่งว่า รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และทรงทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสนพระทัยดาราศาสตร์ไปด้วย เมื่อรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทราบว่า มูลนิธิกำลังดำเนินการสนอง พระราชดำริขององค์ประธานมูลนิธิ จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสผ่านมาถึงมูลนิธิว่า อย่าสอนให้ดูแต่ดาวเป็นอย่างเดียว ควรจะต้องสอนเนื้อหาที่ต้องมีการคำนวณตัวเลขมากๆด้วย (ซึ่งก็คือ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์)
ในปี พ.ศ 2546 มูลนิธิฯได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการ “โครงการนำร่อง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก” ขึ้น ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์ สอวน.วิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ขอนแก่น วลัยลักษณ์ และ สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ หลังจากนั้นได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ขึ้น 4 ศูนย์ใน 4 ภาค ทั่วประเทศ คือ
ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ
ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้
ศูนย์ สอวน. สมาคมดาราศาสตร์ไทยฯ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตกและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
จุดประสงค์ในการตั้งศูนย์ สอวน. ก็เพื่อจะรับสมัครนักเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สอบคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และสนใจในวิชาดาราศาสตร์ นำมาฝึกฝนอบรม และคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 คน ไปแข่งขัน IAO ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) (ครั้งที่ 9 เมืองซิเมซ (Simeiz) ประเทศยูเครน (Ukraine))[ไทยได้ 1 เหรียญเงิน] ปีถัดมา พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) (ครั้งที่ 10 เมืองปักกิ่ง (Beijing) ประเทศจีน (China)) ได้ส่งไปแข่งขันทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 คน{หนึ่งในนั้นคือ ธนพนธ์ กำเนิดสิทธิเสรี (OSK 127)} และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 คน{หนึ่งในนั้นคือ ทรงเกียรติ นุตาลัย (OSK 125/44656)} รวมทั้งยังส่งเข้าแข่งขันดาราศาสตร์ภาคพื้นเอเซียระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 คน ตั้งแต่ พ.ศ 2550 (ค.ศ 2007) เป็นต้นมาประเทศไทยส่งเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 คน เท่านั้นไปแข่ง IAO จนถึงปัจจุบัน เพราะระดับมัธยมศึกษาตอนปลายส่งไปแข่ง IOAA แทน
IOAA เกิดจากทางมูลนิธิฯ ตั้งใจจะเป็นเจ้าภาพ IAO ในปี 2550 (ครั้งที่ 11) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และองค์ประธานมูลนิธิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ (เจ้าภาพในปีนั้นคือเมืองซิเมซ (Simeiz) ประเทศยูเครน (Ukraine)) ทางมูลนิธิฯ จึงได้ปรึกษาศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์ เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นมาอีกโปรแกรมหนึ่ง และใช้ชื่อการแข่งขันใหม่นี้ว่า ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ International Olympiad on Astronomy and Astrophysics (IOAA) เป็นครั้งแรกที่ริเริ่มขึ้นในประเทศไทย คณะทำงานของประเทศไทย ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง ในการจัดทำหลักสูตรและกฏระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้ในการแข่งขันจาก หัวหน้าทีมวิชาฟิสิกส์ และหัวหน้าทีมวิชาดาราศาสตร์ จากประเทศต่าง ๆ และเพื่อความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน IOAA ในปี พ.ศ 2550 (ค.ศ 2007) มูลนิธิฯจึงได้ดำเนินการทดลองจัดการแข่งขัน IOAA ขึ้นล่วงหน้าในปี พ.ศ 2549 (ค.ศ 2006) ณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในงาน IOAA ครั้งที่ 1 นั้น เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม พ.ศ 2550 มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 22 ประเทศ ประเทศละ 5 คน ประเทศไทยได้ 3 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน (2 ใน 3 เหรียญทอง คือ สุวรรณ สุวรรณรัตน์ (OSK 128/46458)และ ปุณณวิช คงพิทักษ์สกุล (OSK 128/46443)) และในครั้งที่ 11 ประเทศไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดภูเก็ต เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา มีประเทศเข้าร่วมแข่งขัน 44 ประเทศ ประเทศไทยได้ 2 เหรียญทอง (หนึ่งในนั้น คือ ภานุพงศ์ พุ่มพวง (OSK 137)) 2 เหรียญเงิน (หนึ่งในนั้นคือ วริท วิจิตรวรศาสตร์ (OSK 137)) และ 1 เหรียญทองแดง
ภาพงาน IOAA ครั้งที่ 10 จาก: ครูสุมิตร สวนสุข
ทำไม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถึงได้เป็น ศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์
ต้องเล่าก่อนว่าในช่วงเวลานั้น ครูสมหมาย วัฒนคีรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พร้อมทั้งเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและครูเก่า) ทำงานอยู่ใน สอวน. จากผลงานทั้งเป็นผู้ริเริ่มและวางแผนการจัดทำ (ในนามกรมสามัญศึกษา โครงการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528, ได้รับรางวัลจากสมาคมวิทยาศาสตร์ฯเป็นครั้งแรกนอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการและดำเนินการคัดเลือกเยาวชนไทยร่วมกับ สสวท. เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกทุกปี โดยเริ่มทำงานที่ สอวน. ตั้งแต่ปี 2552
ในช่วงรอยต่อปี พ.ศ. 2554 กับ พ.ศ. 2555 ครูสมหมาย วัฒนคีรี กับรองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการของมูลนิธิ ทั้งสองท่านมีความคิดที่จะให้สวนกุหลาบเปิดศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ขึ้น (ทั้งสองท่านเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน) เพราะ
สวนกุหลาบฯ ได้ผู้แทนศูนย์ทุกปีเป็นจำนวนมาก ทำให้เด็กโรงเรียนอื่นเขามีโอกาสน้อย จึงให้เปิดศูนย์เพื่อรับเฉพาะนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ระบบศูนย์ปิด) (มองอีกมุมมองหนึ่งคือจนวนเด็กที่ได้ (โควตา) จะลดลงกว่าก่อน)
สวนกุหลาบฯ มีคุณภาพและขนาดใหญ่พอ มีทั้งระบบการติว รุ่นพี่สูุ่รุ่นน้อง ทั้งการติวจากกุลาบเพชร ซึ่งมันเหมาะสมที่จะสามารถจัดตั้งได้เลย
งบประมาณของเรื่องค่าใช้จ่ายที่พร้อมของสวนกุหลาบฯ ทำให้ทาง สอวน. เล็งเห็นถึงศักยภาพของโรงเรียน
{บทสัมภาษณ์ครูสุมิตร สวนสุข ครูผู้ดูแลศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหาบวิทยาลัย ท่านแรก เล่าว่า เมื่อก่อน ทาง สอวน. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ปีละหลายสิบล้าน เวลาต่อมา ทาง สอวน. มีการเข้าร่วมกัน สพฐ. โดยทาง สพฐ ให้งบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้การอบรมเพื่อมาใช้เรื่องวิทยากรการอบรม ซึ่งใช้จำนวนมาก (ของสวนกุหลาบฯ งบประมาณค่าใช้จ่ายวิทยากร คิดเป็น 70% และอีก 30% เกี่ยวกับค่ายสังเกตการณ์) ทำให้ช่วงปี 2558 มีนโยบายให้ครูไปอบรมเป็นครู สอวน. ดาราศาสตร์ในค่าย 1 ส่วนค่าย 2 ให้เป็นหน้าที่ภาระงานของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย (สำหรับดาราศาสตร์ ควรจะเป็นฟิสิกส์ เพราะจะมีเกี่ยวข้องกับการคำนวณ) ทำใหโรงเรียนต้องปันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ใช้กับศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ ม.ต้น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย}
ภาพ ผอ. สมหมาย วัฒนคีรี
ภาพรองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร
ในเวลานั้น ทาง สอวน. มีการผลักดันให้ทางโรงเรียน เปิดเป็นศูนย์ สอวน. ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน (พร้อมทั้งมีการประชุมวิสามัญกันภายในแล้ว) โดยมีการส่งหนังสือให้กับโรงเรียน (ในเวลานั้นคือ ผอ. เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ{พึ่งย้ายมาใหม่}) โดยในเวลานั้น เด็กสวนกุหลาบ จะอบรมค่ายดาราศาสตร์ ณ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งหน่วยงานที่ดูแล/ประสานงานนักเรียนไปอบรมหรือแข่งขัน คือ งานกุหลาบเพชร (งานกุหลาบเพชร ตั้งขึ้นในปี 2536 สมัย ผอ.สมหมาย วัฒนะคีรี เป็นผู้อำนวยการ โดยครูสมหมาย มีความเชื่อมาโดยตลอดว่า
นักเรียนทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ และสามารถที่จะเรียนรู้ ให้บรรลุได้
เมื่อครูสามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่ดี ครูต้องเติมเต็มได้ตรงตามศักยภาพจะสามารถพัฒนาเด็กทุกคนไปสู่เป้าหมายได้
หลักการวิธีการและกระบวนการที่จะทําให้เกิดการเรียนรู้ได้นั้น ต้องไม่แยกการศึกษาออกจากชีวิตจริง กล่าคือ ต้องนำชีวิตเด็กทั้งชีวิตมาเป็นตัวตั้ง และเชื่อมโยงกับความจริงโดยรอบอย่างกว้างขวางแล้ว จะทำให้ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเด็ก ซึ่งจะสามารถพัฒนาเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด
จากความเชื่อดังกล่าวจึงเกิดโครงการกุหลาบเพชรขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูประจำชั้นและครูผู้สอนทุกคนได้รู้จักเด็กอย่างแท้จริง โดยค้นหาและคันให้พบคุณลักษณะและสมรรถนะของเด็กในการดูแลในทุกด้าน ความดีความงาม ปัญหา ความรัก ความชอบ ความเก่ง ความสามารถ เพื่อครูจะได้หาวิธีการในการป้องกัน แก้ปัญหา สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนา ได้ถูกจุด และเมื่อพบในด้านความเก่ง ความดี ความรัก ความชอบความสามารถ จะต้องนำมาเจียระไนให้เป็นเพชร และจะได้เพชรหลากหลายประเภท และเชื่อว่าในที่สุดนักเรียนสวนกุหลาบฯ จะเป็นเพชรเม็ดงามได้ทุกคน เมื่อได้รับการเจียระไนในทิศทางที่ถูกต้อง และตรงตามประเภทของเพชรแต่ละชนิด ทั้งนี้โครงการนี้จะต้องใช้เวลาและร่วมมือจาก บุคลากรทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ครูสมหมายจึงนำร่องด้วยเพชร 2 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ เป็นเพชรที่ถูกเจียระไนจากผู้ที่มีทักษะและ ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งชื่อห้องที่เด็กกลุ่มนี้มาใช้ว่า ห้องกุหลาบเพชร 1 ส่วนห้องกุหลาบเพชร 2 เป็นห้องที่จะต้องเจียระไนจากผู้ที่มีทักษะและความสามารถด้านศิลปะ และโครงการนี้ มีเจตนาที่จะสืบสาน เจียระไนเด็กเพื่อที่จะได้เพชรชนิดอื่นๆ จนครบเกือบ 5,000 ชนิด (ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับปริมาณของเด็กสวนกุหลาบฯ ทั้ง โรงเรียนนั่นเองในขณะนั้น) และกุหลาบเพชรที่ถูกเจียระไนแล้วอย่างสวยงามและแข็งแกร่งทุกดอก พร้อมที่จะไปเผชิญชีวิตภายนอกได้อย่างสวยงามและประสบผลสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน
ในเวลานั้น ได้แต่งตั้งให้ ครูผกาวดี ทิพย์พยอม เป็นหัวหน้างานสงเสริมศักยภาพนักเรียน มีหน้าที่ในการดำเนินงานทุกอย่าง เพื่อให้นักเรียนได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ และได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ โดยใช้ห้องกุหลาบเพชรเป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานระหว่าง ผู้ปกครอง นักเรียน วิทยากรและหน่วยงานภายนอก รวมทั้งใช้หัองในการติวนักเรียน
ภาพครูสุมิตร สวนสุข และ ครูจุฑาทิพย์ สวนสุข
ภาพจาก: ครูสุมิตร สวนสุข
เนื่องจากว่า งานกุหลาบเพชร มีหน้าที่ภาระงานเกี่ยวกับนักเรียนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ขณะนั้น เกิดปัญหาที่ว่า…มีความเห็นไม่ตรงกัน ทางฝ่านหนึ่งก็มองว่าจะเป็นภาระ แต่ในส่วนฝ่ายบริหารก็พยายามผลักดัน ก็เลยยังไม่สามารถจะเปิดศูนย์ได้ในช่วงนั้น
ขณะเดียวกัน ครูสมหมาย เลยเรียกทางครูสุมิตร สวนสุข (ขณะนั้นครูสุมิตร เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ไปคุย (ล็อบบี) ครูสุมิตรเองก็สอนวิชาฟิสิกส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์โดยตรง และในค่าย สอวน. บรรดาครูจากศูนย์ สอวน. ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อน รุ่นพี่ อาจารย์ (สอนฟิสิกส์เหมือนกัน) ซึ่งมันจะเหมาะที่สุดแล้วที่จะต้องทำและรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำให้งาน ศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ เป็นของทางกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยมี ครูสุมิตร สวนสุข เป็นผู้ดูแลคนแรก ตั้งแต่ปี 2555 (และครูจุฑาทิพย์ สวนสุข ดูแลเรื่องงบประมาณ)
เมื่อศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ก็ต้องเริ่มตั้งต้นใหม่ ตั้งแต่ การตั้งงบประมาณ การรับสมัครเด็ก การทำค่าย และส่งนักเรียนไปแข่งในปี 2556 (TAO ครั้งที่ 10) และอุปสรรคสำคัญ ก็คือการให้ความร่วมมือกันภายในน้อยมาก เพราะแต่ละคนไม่ได้มีความเห็นในแนวทางเดียวกัน ความโชคดีที่มีกลุ่มนักเรียนที่คอยช่วยเหลือในทีม ทั้งครู ทั้งรุ่นพี่สวนกุหลาบฯ ผู้แทนศูนย์ฯ และ ฆนรุจ จันทรทองดี (OSK 133) (เหรียญเงิน IAO ปี 2555 เหรียญทอง IOAA ปี 2556) ร่วมกันทำเอกสาร เนื้อหาและหลักสูตร สอวน. ใช้งานกันภายในว่ามีรูปแบบ (Pattern) การอบรมอย่างไร
สำหรับนักเรียน GATE Program (Gifted And Talented Education) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จะได้เรียนวิชาดาราศาสตร์ด้วย ซึ่งก็เกิดจากการมีศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์นี่แหละ ครูสุมิตร จึงได้วางหลักสูตรการเรียน โดยการแบ่งหน่วยกิตออกมา ซึ่งหากมองในมุมหนึ่ง เมื่อมีนักเรียนเกิดชอบในวิชานี้ขึ้นมา ก็จะสามารถต่อยอดไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้ผ่านศูนย์ สอวน. ของโรงเรียน{ซึ่งเป็นหนึงในกลยุทธ์ที่ทำให้นักเรียน มีความอยากที่จะศึกษาต่อ ในระดับชั้น ม.ปลาย ในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะมีศูนย์ สอวน. ของระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วย}
ในส่วนของศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ปี 2559 ในสมัยของ ผอ.วิทยา ศรีชมภู โดยในการประชุมของทาง สอวน. ให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เปิดศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งทางครูสุมิตร เล่าว่า ได้รับเป็นที่เรียบร้อย และหัวหน้าศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์เขายกมือให้หมดแล้ว ทว่า วันถัดมาที่โรงเรียน เกิดปัญหาภายใน ทำให้โรงเรียน ยังไม่รับเป็น ศูนย์ สอวน. ม.ปลาย เพราะไม่พร้อม
หลังจากที่ทางโรงเรียน ยังไม่รับเป็น ศูนย์ สอวน. ม.ปลาย ทางรองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการมูลนิธิ สอวน. นำเรื่องนี้กราบบังคมทูลแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพระองค์ทรงทราบความแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสว่า…
“ถ้าสวนกุหลาบไม่พร้อมแล้วโรงเรียนไหนจะพร้อม”
เรื่องส่วนตรงนี้เป็นเรื่องจริงจากครูสุมิตร เนื่องจากท่านได้มีโอกาสไปพูดคุยกับอาจารย์เย็นใจในงานแข่งขัน IOAA ครั้งที่ 11 ปี พ.ศ. 2560 ณ จังหวัดภูเก็ต ทำให้เวลาต่อมา ในช่วงปี 2562 สมัยของ ผอ. จิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง มีหนังสือจากทาง สอวน. ให้รับเป็น ศูนย์ สอวน. ม.ปลาย ขึ้น ในเวลานั้น ทางครูสุมิตร ไม่ได้ดูแลศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์แล้ว จะเป็นทางครูธวัชชัย สุขล้อม ดูแลแทน จึงได้มีการรวมทีมกันดูแลรับผิดชอบงาน สอวน. ต่อไป
ภาพจาก: ครูสุมิตร สวนสุข
ภาพ ผอ. เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2556 รุ่น 132
ช่วงที่เกิด ศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ ใหม่ ๆ ในราวปี พ.ศ. 2555 ผอ.เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ ในขณะนั้น ท่านได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ว่า ศูนย์ สอวน. ดาราสาสตร์ ยังไม่มีแหล่งเรียนรู้ที่ควรจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สมรรถนะโดยศักยภาพ ทักษะ ของนักเรียนให้ดีขึ้น ก็เลยมีไอเดียว่า โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ควรจะมีท้องฟ้าจำลองเป็นของตัวเอง เพราะโรงเรียนสวนกุหลาบฯ มีศักยภาพพอที่จะมีท้องฟ้าจำลองขึ้น (เหมือนกับของโรงเรียนสามเสนฯ “ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลอง นวมินทเชษฐภคินี”) ทางผอ.เชิดศักดิ์ เอง ก็เลยคิดว่า สวนกุหลาบฯ ก็มีอาคารศาลาพระเสด็จ ซึ่งบริเวณชั้น 5 (สนามทัศนนิพันธ์) ก็ยังพอสามารถจะทำได้ จึงได้เริ่มวางแผนการดำเนินการก่อสร้าง “ท้องฟ้าจำลอง” ขึ้น (เวลานั้นใช้ชื่อโครงการการก่อสร้างว่า อาคารอเนกประสงค์ (ท้องฟ้าจำลอง) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)
ทางครูสุมิตรเล่าว่า อีกเหตุผลในการดำเนินการคือ คุณ นัธพนธ์ ขวัญมิตร (OSK 114) รับเหมาก่อสร้างท้องฟ้าจำลองที่โรงเรียนสามเสนฯ เขียนแปลนเองรับเหมาเองทำเอง ทีนี้พี่ท่านนั้นเอง อยากจะช่วยมาดำเนินการก่อสร้างให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ท่านเลยบอกว่า ถ้าโรงเรียนจะทำ ท่านมีความยินดีจะช่วยในเรื่องแปลนการก่อสร้าง ทาง ผอ. เชิดศักดิ์ เลยให้ทางครูสุมิตร สวนสุข กับรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ (ในขณะนั้น) รองฯ สมบัติ ศรีประเสิรฐ ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และนำกลับมาประชุมภายในโรงเรียน ทางครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ลงความเห็นว่า ควรจะทำ จึงได้เริ่มศึกษาถึงโครงสร้างการดำเนินการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองขึ้น
หมายเหตุจากครูสุมิตรว่า หอดูดาว กับ ท้องฟ้าจำลอง คือคนละอย่างกัน
หอดูดาว (Observatory) คือ สถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อการสังเกตและศึกษาวัตถุในอวกาศ เช่น ดวงดาว ดาวเคราะห์ เนบิวลา และกาแล็กซี โดยใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีความละเอียดสูง เช่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา, หอดูดาวแห่งชาติ, หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
ท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) คือ สถานที่สำหรับการเรียนรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ โดยจำลองลักษณะของท้องฟ้าและการเคลื่อนที่ของดวงดาวและวัตถุในอวกาศ เช่น ท้องฟ้าจำลองสิรินธร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร หรือนิทรรศการภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา หรือหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา เป็นต้น
ในช่วงระหว่างการเกิดขึ้นของ ศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ และ ท้องฟ้าจำลอง ก็ได้มีนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ทั้งนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ และนักเรียนที่มีความสนใจในดาราศาสตร์ นำโดย อำพันเทพ ธารวณิชย์การ (OSK 132/49566) (รองยุวทูตดาราศาสตร์ประจำปี 2554) (นักเรียนโอลิมปิกดาราศาสตร์ปี 2551 - 2556) หรือ “พี่เทพ” โดยทางพี่เทพเองมีความคิดอยากจะตั้งชุมนุมดาราศาสตร์ให้มีขึ้นมาในรร โดยแยกตัวชุมนุมดาราศาสตร์ออกมาจากชุมนุมวิทยาศาสตร์ จึงเกิด “ชุมนุมยุวชนคนดูดาว” (Star Walk) ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งชุมนุม เพื่อ
เพื่อเป็นฐานบริการข้อมูลสารสนเทศทางด้านดาราศาสตร์
เพื่อกระตุ้นเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีเจตคติที่ดีและหันมาสนใจในวิชาดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น
เพื่อมุ่งเน้นการศึกษาวิชาดาราศาสตร์นอกห้องเรียน โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติการณ์
เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงและข่าวสารปรากฏการณ์ต่างๆทางดาราศาสตร์
เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรทางดาราศาสตร์อื่นๆในประเทศไทย ในการสร้างโครงข่ายทางดาราศาสตร์ที่แข็งแรงและมีความมั่นคง
ความตั้งใจเดิมของพี่เทพตั้งใจอยากให้เด็กชุมนุมดาราศาสตร์มีหน้าที่เป็นยุวมัคคุเทศก์ท้องฟ้าจำลองที่จะก่อสร้างขึ้น ตลอดจนมีสถานที่ประชุมและเก็บอุปกรณ์ ณ ท้องฟ้าจำลองเป็นหน้าที่หลัก ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักรู้ในวิชาดาราศาสตร์ และส่งเสริมความรู้ สร้างกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้สนใจได้ความรู้และมีประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อคุณได้เปิดใจดูท้องฟ้าแล้ว คุณจะพบกับความงดงามของธรรมชาติ และสะท้อนถึงตัวตนของคุณที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ มีความใส่ใจ ตระหนักและรักโลก รักตน เห็นคุณค่าในสรรพสิ่งยิ่งขึ้น
ในปีแรกในการก่อตั้ง ตรงกับงานนิทรรศการวิชาการสวนกุหลาบ หรือ “นิทรรศสวน” ครั้งที่ 10 วันที่ 13 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ธีม “ก่อนโลกแตก” โดยชุมนุมยุวชนคนดูดาว ได้จัดงานนิทรรศการในหัวข้อ "โลกนอกโลก" เพื่อล้อกับข่าวและหนังที่เป็นกระแสในตอนนั้นว่าปี 2555 โลกจะแตก ซึ่งฃกิมมิกของชุมนุม คือ มีการขออาหารอวกาศจากสถาบันอวกาศของจีนมาจัดแสดงให้คนชิมในงานด้วย
ภาพ Logo ชุมนุมยุวชนคนดูดาว
ภาพของอำพันเทพ ธารวณิชย์การ (OSK 132/49566)
งบประมาณในการก่อสร้าง ณ ช่วงเวลานั้น คือ 18 ล้าน โดยได้คุณชูชัย มุ่งเจริญพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26) ได้ช่วยประสานงาน ได้งบประมาณมา 9 ล้าน ต่อมา ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555 กลุ่มโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบฯ ทั้ง 11 โรงเรียน ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พงศ์เทพ เทพกาญจนา โดยมีประเด็นการสนทนาในเรื่องของ “วัฒนธรรมสวนกุหลาบ” และกำลังวางแผนเรื่องการดำเนินการหลักสูตร “สวนกุหลาบศึกษา” หนึ่งในเรื่องเรื่องการสนทนาในครั้งนั้นคือ การก่อสร้างท้องฟ้าจำลอง ทำให้เวลาต่อมาได้ ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้มาดูสถานที่ และมีประชุมในโรงเรียน โดยให้ทางครูสุมิตร เป็นผู้นำเสนอ มีเหตุผล 4 ข้อ ในการจัดตั้งท้องฟ้าจำลอง คือ
ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดาราศาสตร์
เป็นแหล่งเรียนรู้ของวิชาดาราศาสตร์สำหรับนักเรียนภายในโรงเรียน
ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสนใจในด้านดาราศาสตร์
เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจจะมาเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลอง
พร้อมกันนี้ ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา จึงจัดตั้งงบประมาณให้อีก 9 ล้าน รวมเป็น 18 ล้าน
ภาพจาก: หนังสือสมานมิตรปี 2556 รุ่น 132
ภาพแผนผังท้องฟ้าจำลอง
ภาพแผนผังท้องฟ้าจำลอง
กลับมาที่เรื่องท้องฟ้าจำลองกันต่อ ก็คือหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลง ครม. (คนถัดไป คือ จาตุรนต์ ฉายแสง (OSK 87/16786)) ทำให้งบประมาณ 9 ล้านแรกมาก็หายไป และ 9 ล้านก้อนเดิมก็หายไป ทาง ผอ. เชิดศักดิ์ เลยคิกว่า สวนกุหลาบฯ ต้องมีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน จึงเริ่มให้ทางศิษย์เก่า มาช่วย ร่างออกแบบท้องฟ้าจำลอง โดยได้สถาปนิก คุณพิพัฒน์ รุจิราโสภณ (กบ) (OSK 104/26695) ออกแบบท้องฟ้าจำลอง จากเดิมที่จุคน 10 - 20 ที่นั่ง เป็น 60 ที่นั่ง (แบบในปัจจุบัน จุได้ 70 ที่นั่ง)
ภาพภายในโซน Planetarium ท้องฟ้าจำลอง
กลับมาที่เรื่องท้องฟ้าจำลองกันต่อ ก็คือหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลง ครม. (คนถัดไป คือ จาตุรนต์ ฉายแสง (OSK 87/16786)) ทำให้งบประมาณ 9 ล้านแรกมาก็หายไป และ 9 ล้านก้อนเดิมก็หายไป ทาง ผอ. เชิดศักดิ์ เลยคิกว่า สวนกุหลาบฯ ต้องมีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน จึงเริ่มให้ทางศิษย์เก่า มาช่วย ร่างออกแบบท้องฟ้าจำลอง โดยได้สถาปนิก คุณพิพัฒน์ รุจิราโสภณ (กบ) (OSK 104/26695) ออกแบบท้องฟ้าจำลอง จากเดิมที่จุคน 10 - 20 ที่นั่ง เป็น 60 ที่นั่ง (แบบในปัจจุบัน จุได้ 70 ที่นั่ง)
ทางผอ. เชิดศักดิ์ ได้ประสานกับทางผู้ใหญ่ ตั้งแต่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (OSK74/12129) โดยเล่าให้ท่านฟังว่า “เจตนาที่ทางโรงเรียนของเราจะสร้างท้องฟ้าจำลองขึ้นมาเนี่ย ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยของเราเนี่ย ก็ไปเป็นนักเรียนดาราศาสตร์ และก็ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในระดับโลกมากมายรุ่นต่อรุ่น แต่ว่าเราไม่สะดวกที่จะพานักเรียนโอลิมปิก หรือนักเรียน สอวน เนี่ย ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นศูนย์อยู่เนี่ยไปเรียนรู้ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งมันไกล ก็ถ้ามีในโรงเรียนได้ก็จะดี” เมื่อได้แบบแล้วก็เอาไปเรียนให้ท่านทราบแล้วก็ประสานกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และก็ผ่านเขตพื้นที่ และก็ ทางสำนักงบประมาณก็ดูแลให้ (มี OSK ที่อยู่สำนักงบประมาณ เขาสามารถที่จะปันงบผ่านมาให้โรงเรียนเรามาได้โดยตรง) ในที่สุดก็ได้งบประมาณมา 35 ล้าน
โครงสร้างของอาคารศาลาพระเสด็จที่จากเดิมรองรับแค่ 4 ชั้น และพอชั้นดาดฟ้าถูกทำเป็นท้องฟ้าจำลองขึ้น ปัญหาในเรื่องของการออกแบบโครงสร้างการรับน้ำหนักของท้องฟ้าจำลองเป็นสิ่งสำคัญ ทาง ผอ. เชิดศักดิ์ จึงได้ให้ทางครูดำรง ชอบสุจริตสกุล (รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไปในขณะนั้น) ไปขอแบบอาคารศาลาพระเสด็จ (แบบที่ 3) จากทาง สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ซึ่งแบบอาคารของโรงเรียน พอมีอายุนานเข้า ครูเก่า ๆ ในเวลานั้นก็เกษียณไปหมดแล้วจนทำให้ไม่ทราบว่าเก็บแบบแปลนไว้ที่ไหน
พอแบบแปลนแรกเสร็จ ได้งบประมาณเสร็จ ผอ. เชิดศักดิ์ เกษียณพอดี (30 กันยายน พ.ศ. 2558) ก็มี ผอ.วิฑูรย์ วงศ์อิน มาสานต่องาน โดยมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างและมีการ E-Bidding พร้อมทั้งออนุมัติการดำเนินการก่อสร้างท้องฟ้าจำลอง โดยมีบริษัท อินเตอร์โฟนิค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท้องฟ้าจำลอง และติดตั้งอุปกรณ์จัดแสดงการเรียนรู้ โดยท้องฟ้าจำลองของสวนกุหลาบฯ ใช้เครื่องฉายโปรเจกเตอร์ชื่อ Domedia Pro ขนาดภาพความชัด 1920 X 1200 ค่าความสว่าง 10,000 อัตราส่วนความเข้มของแสง 10,000 : 1 พื้นที่จัดเก็บ 2TB HDD + 250G SDD ระบบซอฟต๋แวร์ Astronomy Simulation Software 3 Fulldome shows, RGB Light and Sound Player, Dome Media Player ระบบเสียง 5/.1 Surround Sound วงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้หรือที่ได้รัย 34,417,300 บาท ราคากลาง 35,189,400 บาท วงเงินค่าก่อสร้างฯ ตามที่ได้ลงนามในสัญญาจ้าง 33,963,000 บาท เริ่มก่อสร้าง 25 เมษายน พ.ศ. 2559 สมัย ผอ. วิฑูรย์ วงศ์อิน และแล้วเสร็จในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 สมัย ผอ. วิทยา ศรีชมภู
ภาพ ผอ. วิฑูรย์ วงศ์อิน จาก: ครูจรูญรัตน์ สุวรรณภูสิทธิ์
ภาพ ผอ. วิทยา ศรีชมภู
นอกเหนือจากโซน Planetarium ท้องฟ้าจำลอง ยังมีนิทรรศการให้เข้าชมได้ทั้งหมด 8 โซน
โซนที่ 1: ปฐมบทดาราศาสตร์ - จัดแสดงประวัตินักดาราศาสตร์และผลงานที่สำคัญของโลก
โซนที่ 2: ระบบสุริยะ - จัดแสดงระบบดาว ซึ่งประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่น ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
โซนที่ 3: ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ - จัดแสดงระบบวงโคจรของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ในรอบวัน รอบเดือน หรือรอบปี
โซนที่ 4: ชีวิตสัมพันธ์กับดวงดาว - จัดแสดงกลุ่มดาวจักรราศี ตำแหน่งดาว ทิศและฤดูกาล
โซนที่ 5: ดาวฤกษ์ - จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุขนาดใหญ่ในอวกาศ ที่มีแสงสว่างและพลังงานในตัวเอง เป็นมวลก๊าซขนาดใหญ่ที่ให้กำเนิดอณูพื้นฐานในจักรวาล
โซนที่ 6: กาแล็กซี - จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับอาณาจักรของดาวกาแล็กซีหนึ่งๆ ประกอบด้วยก๊าซ ฝุ่น และดาวฤกษ์หลายพันล้านดวง ซึ่งอยู่กันเป็นระบบของดาวฤกษ์
โซนที่ 7: เอกภพ - จัดแสดงถึงเรื่องราว การถือกำเนิดของเอกภพและจักรวาล
โซนที่ 8: สำรวจอวกาศ - จัดแสดงถึงเทคโนโลยี วิวัฒนาการทางด้านดาราศาสตร์ของมนุษยชาติ
ในปี พ.ศ. 2562 มีหนังสือของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ ศธ ๐๔๒๓๑.๒๐/๗๑๙ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2562 เรื่องพระราชทานชื่ออาคารอเนกประสงค์ (ท้องฟ้าจำลอง) ว่า “ท้องฟ้าจำลองสิรินธร” เพื่อเทิดพระเกียรติด้านดาราศาสตร์โอลิมปิก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้เป็นองค์ประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และต่อมา มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๘/ท๖๗๘๐ ลงวันที่ 22 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2562 ความว่า
“สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้กองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ สำนักพระราชวัง นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว พระราชทานชื่อศูนย์การเรียนรู้ ดังกล่าว ว่า “ท้องฟ้าจำลองสิรินธร” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ.” ประดับที่ป้ายชื่อศูนย์ ฯ พระราชทานด้วย…“
ภาพป้ายอาคาร ป้ายอาคาร “ท้องฟ้าจำลองสิรนธร” และอักษรพระนามาภิไธย “สธ.”
ต่อมา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 มีโพสต์จาก สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงโครงการปรับปรุงเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลองสิรินธร ความว่า
“เนื่องด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีโครงการปรับปรุงภายนอกบริเวณอาคารท้องฟ้าจำลองสิรินธร ซึ่งได้รับการออกแบบโดย พี่แบน ธีรพล นิยม OSK83{15697} ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 พี่ปุ๋ย สมิตร โอบายะวาทย์ OSK97{20955} อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะทำงานอีกหลายท่าน
ในการนี้ สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญชวนพี่ๆน้องๆ ร่วมโหวตแบบอาคาร โดยการกด Like (ไลก์) ภาพที่ท่านชื่นชอบ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาดำเนินการโดยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยต่อไป”
พร้อมกับรูปภาพ Design ตัวเลือกให้โหวตแบบที่ชื่นชอบ ทั้งหมด 5 แบบ โดยมีการดีไซน์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
แบบที่ 1: Contextual Approach - กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมทั่วไปของโรงเรียน ใช้ ARCH โค้ง Neo Classic เนื่องจากเป็นอาคารที่สูงที่สุด จึงใส่สัญลักษณ์ของโรงเรียน ไว้ตรงกลาง ใช้สีกลมกลืนกับตึกยาว
แบบที่ 2: Nostalgic Approach - คิดถึงศาลาพระเสด็จของเดิมที่สร้างเมื่อ 2468 และถูกแทนที่ด้วยอาคารพระเสด็จใน ปี 2510 จึงทำเป็นหลังคาทรง Mansard ของศาลาพระเสด็จเดิม ให้เป็นสัญลักษณ์ ของการเคารพอดีต “ตำนานที่ยาวนาน ของโรงเรียนสวนกุหลาบ"
แบบที่ 3: New Modern Activities - เน้นให้เห็นความชัดเจนของกิจกรรมที่มาใหม่ด้านบนสุดของอาคาร เป็นแบบที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด ดูสมัยใหม่แต่ไม่โอ้อวด
แบบที่ 4: Institutional Look - ให้อาคารดูเรียบร้อย สะอาดตา มีบุคลิกเป็นสถาบัน (Institute) เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย บอกชัดเจนถึงช่วงเวลาของการพัฒนา ไม่ยึดติดกับสถาปัตยกรรมในอดีต
แบบที่ 5: Science & Technology - เน้นความเป็นหอดูดาว ประกาศศักดา ถึงความก้าวหน้าของโรงเรียนทางด้าน วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ "สวนกุหลาบก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง”
สภาพตึกในปัจจุบัน (2562) เป็นหลังคาจั่วทำด้วย Metal Sheet คล้ายโรงงานทั่วไป จุด ประสงค์เดิมแค่ทำหลังคาคลุมกันฝน และ ให้เด็ก ๆ เล่นฟุตบอลด้านบน ไม่สมมาตร (Asymmetrical) คือสันจั่วไม่อยู่กลางอาคาร
ภาพจาก: Facebook: สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
1 วันถัดมา มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ (ในเวลานั้น) ว่า แบบที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุด คือ แบบที่ 5 ด้วยจำนวนไลก์อยู่ที่ 1,100 จึงได้เริ่มดำเนินการออกแบบ วางแผน ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้บริษัท ไอคอน สมาร์ท จำกัด เป็นผู้รับจ้าง และ บริษัท ซี เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงาน
งานก่อสร้างปรับปรุงเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลองสิรินธรเริ่มดำเนินการและแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2565 ส่วนป้ายอาคาร “ท้องฟ้าจำลองสิรนธร” ได้รับการสนับสนุนจากคุณ กิตติชัย วิธานธำรง อดีตประธานเครือข่ายผู้ปกครองรุ่น 142 (ผู้ปกครองของ นพรัตน์ วิธานธำรง (OSK 142/56698)) ในการดำเนินการจัดทำ รวมไปถึง มีการสร้างห้องอเนกประสงค์ไว้ใช้ดำเนินการทำกิจกรรม ซึ่งจะต่อยอดเป็น CO-WORKING SPACE ในเวลาต่อมา
ภาพเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลองสิรินธรก่อนการติดตั้งป้าย
ภาพเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลองสิรินธรหลังการติดตั้งป้าย
ภาพภายในห้องอเนกประสงค์
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าฯ ดำเนินการวางแผน จัดตั้ง SUANKULARB CO-WORKING SPACE ในปี 2566 โดยมีการเผยโฉม Design Proposal ปรับปรุงส่วนของห้องอเนกประสงค์ใหม่
ในส่วนของแบบแปลนนี้ยังไม่ใช่แบบที่ถูกก่อสร้างจริง ในส่วนของที่ก่อสร้างจริง จะมีการเพิ่มพื้นที่ส่วนเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลองให้เป็นห้องทำงานแทน มีการต่อเติมพื้นในส่วนของช่องว่าง ด้านหน้าอาคาร โดยการดำเนินการก่อสร้าง เกิดขึ้นช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567
ภาพ SUANKULARB CO-WORKING SPACE ในระหว่างการก่อสร้าง
ภาพ SUANKULARB CO-WORKING SPACE ในระหว่างการก่อสร้าง
ภาพ Design Proposal แบบแรก ของ SUANKULARB CO-WORKING SPACE
ภาพ Design Proposal แบบแรก ของ SUANKULARB CO-WORKING SPACE
ภาพแบบแปลนก่อสร้างแบบแรก ของ SUANKULARB CO-WORKING SPACE
ภาพของ ภคพล วรรณสูตร
สำหรับชื่อห้อง Co-Working ทางสมาคมศิษย์เก่าฯ ได้จัดประกวดแข่งขัน ให้นักเรียนในปีการศึกษา 2567 ได้ประกวดตั้งชื่อห้อง โดยชื่อที่ชนะเลิศ และถูกใช้ คือ “SUAN CO-SPACE” โดยผู้ที่ตั้งชื่อนี้ คือ บีม ภคพล วรรณสูตร (ส.ก. 146/59156) ในการดำเนินการก่อสร้าง SUAN CO-SPACE มีกำหนดแล้วเสร็จและส่งมอบให้กับทางโรงเรียนในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 ในยุคสมัย ผอ. จิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง (วันสุดท้ายก่อน ผอ. ท่านจะเกษียณพอดี)
ภาพ ผอ. จิณณภัทร พิบูลวิทิตธำรง
ภาพจาก: งานนวัตกรรม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ภาพจาก: งานนวัตกรรม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ในวันที่ 22 มกราคม ปี พ.ศ. 2568 เวลา 9 นาฬิกา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดการเรียนรู้ “ท้องฟ้าจำลองสิรินธร” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งกับทางโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดไม่ได้ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ท้องฟ้าจำลองสิรินธร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ SUAN CO-SPACE ได้ทดลองเปิดให้นักเรียนใช้บริการ โดยเปิดให้บริการในช่วง คาบ 4 - 5 (พักกลางวัน)
สำหรับกฏระเบียบการเข้าใช้ มีดังนี้:
ไม่นำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในอาคาร
ถอดรองเท้าบริเวณที่จัดสรรให้เรียบร้อย
ไม่เล่นหรือส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
ภาพจาก: ครรชิต บูรณสินวัฒนกูล (OSK 107/29596)
Norman Sutton; สวัสดิ์ จันทรงาม; ประวัติครู ปี 2502 - คุรุสภา
ภาพถ่าย นายพุ่ม สาคร จาก มติชน
ตำนานสวนกุหลาบ สวนกุหลาบวิทยาลัยใน 12 ทศวรรษ
หนังสือสมานมิตรปี 2510 รุ่น 82
หนังสือสมานมิตรปี 2512 รุ่น 84
หนังสือสมานมิตรปี 2519 รุ่น 91/95
หนังสือสมานมิตรปี 2522 รุ่น 98
หนังสือสมานมิตรปี 2523 รุ่น 99
หนังสือสมานมิตรปี 2524 รุ่น 100
หนังสือสมานมิตรปี 2527 รุ่น 103
หนังสือสมานมิตรปี 2530 รุ่น 106
หนังสือสมานมิตรปี 2537 รุ่น 113
หนังสือสมานมิตรปี 2538 รุ่น 114
หนังสือสมานมิตรปี 2543 รุ่น 119
หนังสือสมานมิตรปี 2550 รุ่น 126
หนังสือสมานมิตรปี 2556 รุ่น 132
108 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย พิมพ์สวน ฉบับพิเศษ
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุทธิ เพ็งปาน
รำลึกถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ในวาระ 150 ปี ชาตกาล พุทธศักราช 2560
เว็บไซต์ สอวน. www.posn.or.th
กล้า คิด ทำ ตัดสินใจ อย่าง ครูสมหมาย - สมหมาย วัฒนคีรี
ครูสุมิตร สวนสุข
ครูผกาวดี ทิพย์พยอม
อำพันเทพ ธารวณิชย์การ (OSK 132/49566)
ชุมนุมยุวชนคนดูดาว
ผอ เชิดศักดิ์ ศุภโสภณ
แบบก่อสร้าง โครงการท้องฟ้าจำลอง Planetarium
ภาพอาคารพระเสด็จแบบที่ 2 จากคุณศุภวิชญ์ (ศักดิ์ชาย) ครุฑราลัย (OSK103/25699)
ภาพสนามทัศนนิพันธ์จากคุณโชติช่วง ภริตานนท์ (OSK 122/22142)
ภาพ ผอ. วิฑูรย์ วงศ์อิน จาก ครูจรูญรัตน์ (เจริญรัตน์) สุวรรณภูสิทธิ์ (จิรานุภาพ)
สูจิบัตรพิธีเปิด ท้องฟ้าจำลองสิรินธร Sirindhorn Planetarium
Facebook: สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
Facebook: Sirindhorn Planetarium
Facebook: ท้องฟ้าจำลองสิรินธร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
งานก่อสร้างปรับปรุงเปลือกอาคารท้องฟ้าจำลอง อาคารศาลาพระเสด็จ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามสัญญาเลขที่ 2/2565 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2565
แสวงสิน ฉั่วเจริญ (OSK 111)
ภาพนิทรรศการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากคุณครรชิต บูรณสินวัฒนกูล (OSK 107/29596)
งานท้องฟ้าจำลอง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
งานนวัตกรรม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ชุมนุมดาราศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
Facebook: แปลภาษาเด็กสวน